วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2558


Middle-earth: Shadow of Mordor





ตำนานบทใหม่ที่ไม่เคยมีใครล่วงรู้ในมหากาพย์ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ทว่าศึกครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับแหวน แต่เป็นเรื่องความแค้นส่วนตัวของบุรุษหนุ่มผู้ไม่มีอะไรให้ต้องเสีย
       
        "มิดเดิลเอิร์ธ ชาโดว์ออฟมอร์ดอร์" ผลงานลำดับสองในจักรวาลพิภพแห่งแหวนของสตูดิโอ Monolith Productions ถัดจากเกมแนววางแผน MOBA ในโลกลอร์ดออฟเดอะริงส์ Guardians of Middle-earth ที่ออกมาให้เล่นกันเมื่อปี 2012 โดยที่ยังได้ค่าย Warner Bros. Interactive เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์เกมแอ็คชั่นฮีโร่มนุษย์ค้างคาวฉบับกำยำล่ำซำ มาเป็นตัวแทนผู้จัดจำหน่ายเหมือนเช่นเคย




        ก่อนพูดถึงเนื้อเรื่องภายในเกม อยากให้แฟนๆผู้ติดตามนวนิยายของ "เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน" หรือคนที่เป็นคอหนังของผู้กำกับ "ปีเตอร์ แจ็คสัน" สลัดทิ้งลืมเรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวกับแหวน และการผจญภัยเดินทางของเหล่าพันธมิตรไปให้หมดสิ้น เพราะว่าสิ่งที่เกมนี้จะนำเสนอคือเหตุการณ์คู่ขนานที่ไม่เคยถูกบันทึกลงบนหน้ากระดาษหรือบนแผ่นฟิล์ม ซึ่งบอกให้รู้ถึงความลับที่ถูกซ่อนเร้น ณ ดินแดนมอร์ดอร์ อันเป็นสถานที่สุดสะพรึงไร้คนย่างกรายแห่งนี้ ว่าครั้งหนึ่งเคยมีนักรบหนุ่มนิรนามผู้หาญกล้าบ้าบิ่นมายืนหยัดประกาศศักดาท้าทายอำนาจมืดของจอมราชันย์ปีศาจเซารอนตามลำพังอยู่ตรงหน้าประตู
       
        ซึ่งนามของบุรุษผู้นั้นคือ Talion เรนเจอร์หนุ่มแห่งกอนดอร์ผู้ทำหน้าที่คอยคุมเฝ้าประตูแบล็คเกต แต่ต้องมาสูญเสียทั้งชีวิตและคนในครอบครัวจากการบุกสังหารโหดของเหล่าสมุนออร์คของเซารอนในค่ำคืนสุดสลด ทว่าตัวเขากลับยังไม่ตายด้วยคำสาปมนต์ดำอำมหิตจนต้องกลายเป็นครึ่งผีครึ่งคน และต้องมาจับคู่กับดวงวิญญาณอดีตกษัตริย์เอลฟ์ผู้ประสบชะตากรรมเดียวกันเพื่อพลิกแผ่นดินมอร์ดอร์ควานหานำตัวฆาตกรมาลงทัณฑ์ ด้วยดาบปราบอธรรมคู่ใจ คันศรอิทธิฤทธิ์ และมีดสั้นปลิดชีวันซึ่งเกิดจากดาบที่แตกหักของบุตรชายผู้เป็นที่รัก
       
        จากเรื่องความแค้นส่วนตัวแบบข้ามาคนเดียวบุกเดี่ยวตะลุยทั้งกองทัพ รูปแบบการเล่นของเกมจึงเน้นหนักไปที่การลอบเร้นแอบย่องสังหารศัตรูเป็นส่วนใหญ่ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการบังคับควบคุมอะไรต่างๆในเกมได้รับอิทธิพลมาจากซีรีส์แอสซาซินครีดเป็นอย่างมาก ทั้งการปีนป่ายไต่ตึก แฝงตัวตามพุ่มไม้ หรือแม้กระทั่งการเข้าสู่โหมด Wraith เพื่อเผยตำแหน่งศัตรูที่ดูยังไงก็คล้ายฟีเจอร์อีเกิ้ลวิชั่นของแฟรนไชส์มือสังหาร และเชื่อว่าทุกคนคงรู้ได้นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ตัวละครกระโดดทิ้งตัวจากหอคอยสูงลงสู่พื้น
       
        แต่ในส่วนของระบบการต่อสู้เวลาที่จำเป็นต้องปะทะกับศัตรู กลิ่นอายของเกมแอสซาซินครีดกลับจางหายไป และมีกลิ่นซีรีส์เกมแบทแมนเข้ามาแทนที่ โดยตัวเกมจะให้ผู้เล่นโจมตีเก็บฮิตทำคอมโบต่อเนื่องเพื่อปล่อยท่าเผด็จศึก และมีปุ่มขึ้นมาให้กดเพื่อโต้กลับการโจมตีของศัตรู อีกทั้งเวลากดใช้ท่าพิเศษยามติดคอมโบก็ต้องกดพร้อมกันสองปุ่มเหมือนกันไม่มีผิด ที่เห็นต่างคงเป็นเรื่องจำนวนยูนิตของศัตรูในเกมที่ยกพวกแห่กันมาเป็นฝูงร่วมยี่สิบสามสิบตัว กับท่าสังหารของ Talion ที่มีความโหดดิบเถื่อนกว่าหลายขุมนักมีทั้งปาดคอ แทงทะลุเบ้าตา ฟันหัวขาด สมองกระจุย ที่ช่วยให้การฆ่าออร์คที่มีอยู่อย่างยั้วเยี้ยและเกิดใหม่ทุกนาทีในเกมเป็นความบันเทิงที่ไม่มีวันจบสิ้น
       
        ด้วยยูนิตศัตรูจำนวนมหาศาลที่เรียงหน้ามารุมยำผู้เล่นอย่างไม่หยุดหย่อนจนการตายกลายเป็นเรื่องปกติ จึงทำให้การเล่นในช่วงแรกๆดูทุลักทุเลค่อนข้างยากลำบาก ต้องคอยหลบๆซ่อนๆใส่ตีนผีหนีหัวซุกหัวซุนเอาชีวิตรอด แต่พอเล่นไปเรื่อยๆจนสามารถปลดล็อคสกิลเทพๆมาใช้ความสนุกที่แท้จริงจะบังเกิด ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเราจะสามารถขึ้นไปขี่หลังมอนสเตอร์ ล้างสมองศัตรูให้มาเป็นพวกเดียวกัน หรือแม้กระทั่งสกิลวาร์ปเคลื่อนย้ายในพริบตาที่จะทำให้ตัวละครของเรากลายเป็นเสือติดปีกในทันใด แถมท่าวาร์ปนี้ยังใช้ได้แม้นั่งอยู่บนหลังมอนสเตอร์ ทำให้ในขณะที่กำลังขี่อยู่เราสามารถแวบไปสังหารพลธนูบนหอคอยแล้วแวบกลับมานั่งตรงจุดเดิมได้
       
        มาพูดถึงไฮไลท์หลักของเกมกันบ้าง กับระบบ Nemesis ซึ่งเป็นระบบที่โชว์ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ฉันท์กูมึงระหว่างตัวละครของผู้เล่นกับศัตรูที่เคยสู้ด้วย ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายชนะหรือเสียท่าพ่ายแพ้มา เมื่อเจอหน้ากันอีกครั้งก็มักจะมีประโยคเยาะเย้ยถากถางรื้อฟื้นความหลังอยู่เสมอช่วยให้การล้างแค้นดูมีความหมายมากยิ่งขึ้น และไม่ใช่เพียงแค่นั้นยังมีความสัมพันธ์ระหว่างศัตรูด้วยกันเอง ซึ่งศัตรูในเกมนี้จะมีการแบ่งลำดับชั้นต่างตนต่างแก่งแย่งหักหลังชิงดีชิงเด่นเพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งจากพวกลิ่วล้อปลายแถว สู่ระดับหัวหน้า (Captain) ไปจนถึงขั้นขุนศึก (Warchief) ทำให้ ณ ดินแดนที่ไม่มีคำว่ามิตรแท้และศัตรูถาวรแห่งนี้มีการเวียนว่ายตายเกิดเปลี่ยนสลับตำแหน่งกันตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นเกมแรกๆที่ให้ความสำคัญกับศัตรู โดยที่ผู้เล่นไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาลอีกต่อไป แต่เป็นเพียงแค่เรือลำน้อยที่ลอยล่องอยู่กลางสายธาร
       
        ฉากแผนที่มอร์ดอร์ในเกมนั้นไม่ได้ถูกทำมาเพื่ออวดความกว้างใหญ่อะไรนัก แต่เน้นอัดแน่นเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพสวนกระแสเกมแนวโอเพ่นเวิลด์ทั่วไป องค์ประกอบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นป้อมปราการ ตึกซากปรักหักพัง บ้านเรือน อุโมงค์ถ้ำ ร่องหินทางเดิน ล้วนถูกจัดวางอย่างปราณีตโดดเด่นเป็นแลนด์มาร์ค มีการเล่นแสงเดือนแสงตะวัน หรือกระทั่งเม็ดฝนที่ตกกระทบผิวน้ำบนพื้นดูสวยงามราวกับภาพถ่าย เสริมด้วยลูกเล่นเสียงเอฟเฟกต์ประกอบที่ดังออกมาจากลำโพงกลางจอยดูอัลช็อคโฟร์ยามที่ตัวละครเดินเข้าใกล้กองไฟ น้ำพุ หรือหลบซ่อนตัวตามพุ่มไม้ที่ช่วยเติมเต็มบรรยากาศ แถมช่วงหลังของเกมยังเปิดให้เราได้มีโอกาสท่องสำรวจพื้นที่นอกมอร์ดอร์อีกด้วย



   สำหรับเควสต์เนื้อเรื่องหลักของเกมนั้นไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไปใช้เวลาเล่นประมาณ 10 - 20 ชั่วโมงจบ แต่ที่ชวนให้เล่นติดได้นานๆนั่นคือบรรดาเควสต์รองต่างๆอย่างการล่าสัตว์ เก็บสมุนไพร ปลดแอกเชลยทาส เคลียร์บททดสอบของอาวุธแต่ละชิ้น ตามหาวัตถุและภาพสัญลักษณ์โบราณ ไล่เก็บ Epic Rune หายากจากศพบอส หรือแม้กระทั่งเข้าแทรกแซงการเลื่อนลำดับชั้นของศัตรู ซึ่งนี่ถือเป็นความสนุกท้าทายอย่างหนึ่งในเกม เพราะเราสามารถเลือกให้ความช่วยเหลือปลุกปั้นลูกสมุนอ่อนแอตัวหนึ่งให้ขึ้นจากดินสู่ดาว
       
        ด้วยระบบทุกอย่างที่ถูกขัดเกลามาอย่างดีทั้งเกมเพลย์ ระบบสกิลที่ทำมาได้สมดุลสอดรับกันใช้ประโยชน์ได้ทุกท่า และความใส่ใจในการออกแบบภารกิจ ทำให้การเล่นเกม "Middle-earth: Shadow of Mordor" เป็นประสบการณ์โอเพ่นเวิลด์ที่ไม่มีคำว่าน่าเบื่อ และเชื่อว่าหากไม่มีการพลิกล็อคผิดโผ ตำแหน่งเกมยอดเยี่ยมแห่งปีคงไม่หนีไปไหนไกล
       
       
เกมการเล่น10
กราฟิก10
เสียง10
ความคิดสร้างสรรค์10
ภาพรวม10

       
       ข้อดี : กราฟิกสวย, เกมเพลย์ต่อสู้ที่สนุก, ท่าสังหารโหดมันส์ถึงอารมณ์, ภารกิจสดใหม่ไม่ซ้ำซาก, สกิลสุดเท่ห์ประยุกต์สร้างคอมโบได้หลากหลาย และศัตรูที่มีการแบ่งลำดับชนชั้น 

       ข้อเสีย : ระบบปีนป่ายยังติดๆขัดๆ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น